หนังสือ ‘ระเบียนของวาทกรรม’ ของมิเชล ฟูโกต์ แปลโดย ฐานิดา บุญวรรโณ ราคา 187 บาท
ราคา
187
บาท
ราคา
187
บาท
หนังสือ ‘ระเบียนของวาทกรรม’ ของมิเชล ฟูโกต์ แปลโดย ฐานิดา บุญวรรโณ
แปลจาก L’Ordre du Discours © Editions Gallimard, Paris, 1971
เข้าเล่มปกอ่อนจำนวน 168 หน้า
_______________________
L’ordre du discours หรือ ระเบียบของวาทกรรม เป็นผลงานตีพิมพ์จากการบรรยายของมิเชล ฟูโกต์ที่ Collège de France เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1970 ซึ่งถือว่าการบรรยายเปิดครั้งแรกของมิเชล ฟูโกต์ ในตำแหน่งประจำวิชาประวัติศาสตร์ของระบบความคิด (chaire Histoire des systèmes de pensée) ณ Collège de France ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ฟูโกต์ได้รับต่อจากฌอง อิปโปลิท (Jean Hyppolite)
ต้นฉบับที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Gallimard ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ 2 ชิ้นด้วยกัน คือ 1)ฉบับภาษาอังกฤษแปลโดย รูเพิร์ต สไวเออร์ (Rupert Swyer) ในชื่อว่า “Order of discourse: Inaugural lecture delivered at the Collège de France” ตีพิมพ์ลงในวารสาร Social Science Information ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 หน้า 7-30 ในปี ค.ศ. 1971 และ 1972) ฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดย เอียน แมคคล็อด (Ian McLeod) ในชื่อว่า “The Order of Discourse: Inaugural Lecture at the Collège de France ; given 2 December 1970” ตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความ Untying the text: A Post-Structuralist Reader ที่มีโรเบิร์ต ยัง (Robert Young) เป็นบรรณาธิการในปี ค.ศ. 1981
งานแปลชิ้นนี้แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Gallimard ในปี ค.ศ. 1971 ต้นฉบับมีความหนาเพียง 81 หน้ากระดาษ (7*4.5 นิ้ว) แต่เนื้อหานั้นค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน เมื่อผู้แปลแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสและเทียบเคียงกับต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษแล้ว พบว่ามีหลายจุดที่ต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษไม่ตรงกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส และหลายจุดที่ต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษทั้งสองฉบับนั้นมีการแปลและการเรียบเรียงที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ผู้แปลยึดถือการแปลตามต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Gallimard เป็นหลัก และเคารพสัญญาลิขสิทธิ์การแปลที่ Illuminations Editions ทำไว้กับ Éditions Gallimard ทุกประการ ส่วนการอธิบายขยายความตัวบทเพิ่มเติมในเชิงอรรถนั้น มาจากการปรึกษากับเจ้าของภาษา จากการค้นคว้าและเรียบเรียงโดยผู้แปลทั้งหมด ฟูโกต์มิได้กล่าวไว้ในที่หนึ่งที่ใดแต่อย่างใด ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดจากการอธิบายขยายความตัวบทเพิ่มเติมในส่วนนี้ ผู้แปลขอน้อมรับความผิดพลาดทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว
ฟูโกต์ชี้ว่า “วาทกรรม ผมเชื่อว่ามีหลายนัยยะ บางทีก็เป็นเหมือนถ้อยแถลงทั่วๆ ไป บางทีก็หมายถึงกลุ่มคนที่เปล่งถ้อยแถลง บางทีก็หมายถึงปฏิบัติการภายใต้ระเบียบที่ทำให้เกิดถ้อยแถลงนั้นๆ” (Foucault 1969, 110) ก่อนจะอธิบายความหมายรวบยอดของคำว่าวาทกรรม หรือ discours ฟูโกต์จึงกล่าวถึงคำว่า énoncé ซึ่งถูกใช้ได้หลายนัยยะ บางทีก็ใช้แทนคำว่า parler (บุคคลเป็นคนพูด หรือ อาจหมายถึงเหตุการณ์เฉพาะ) ในที่นี้ผู้แปลขอแปลคำว่า énoncé เป็นภาษาไทยว่า ถ้อยแถลง ถ้อยแถลงนี้มีความเฉพาะเสมอ ไม่มีถ้อยแถลงใดที่เป็นอิสระ เป็นกลาง หรือไม่ขึ้นอยู่กับใคร ถ้อยแถลงต้องเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าบางตอนที่เล่นบทบาทท่ามกลางคนอื่นๆ ถ้อยแถลงไม่ใช่การฉายภาพตรงๆ บนโครงร่างของภาษาของสถานการณ์ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และไม่ใช่เป็นเพียงแต่สิ่งที่องค์ประธานผู้พูดพูดออกมาเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของเกมแห่งถ้อยแถลงเสมอ
ถ้อยแถลงเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เรื่อยๆ หรือระลึกถึงได้เสมอ รูปแบบของภาษาและตรรกะก็สามารถทำให้เป็นปัจจุบันได้เสมอ ถ้อยแถลงจึงเป็นสิ่งที่สามารถถูกกล่าวถึงซ้ำๆ ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เคร่งครัด แทนที่ถ้อยแถลงจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดเพียงครั้งเดียวและสาบสูญไปพร้อมกับอดีตเหมือนกับการตัดสินใจในสนามรบ หรือหายนะทางธรณีวิทยา หรือการสวรรคตของพระราชา ถ้อยแถลงกลับปรากฏออกมาในสภาพความเป็นจริง เผยให้เห็นถึงสถานะท่ามกลางเครือข่ายต่างๆ นั้น ถ้อยแถลงวางตำแหน่งตัวเองในสนามหรือในพื้นที่ของการใช้งาน ถ้อยแถลงเปิดให้ส่งผ่านได้ ปรับแต่งได้ถ้าเป็นไปได้ ถ้อยแถลงเข้าไปสอดแทรกอยู่ในปฏิบัติการ ในยุทธศาสตร์ ว่าจะธำรงตัวตนของถ้อยแถลงไว้หรือจะลบล้างมันไปดี (Foucault 1969, 145) สรุปแล้ว วาทกรรมจึงคือถ้อยแถลงทั้งหลายที่ยกขึ้นมาจากการก่อรูปเชิงวาทกรรมแบบเดียวกัน วาทกรรมสามารถกล่าวซ้ำๆ ได้ไม่สิ้นสุด และเราสามารถสังเกตเห็นการปรากฏขึ้นของมันได้หรือสังเกตเห็นการใช้วาทกรรมดังกล่าวได้ในประวัติศาสตร์ วาทกรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปแบบเชิงอุดมคติหรือสิ่งที่ไร้กาลเวลา วาทกรรมเป็นชิ้นส่วนแตกย่อยของประวัติศาสตร์ มีความเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ต่อเนื่องกันในประวัติศาสตร์
บางส่วนของบทนำ
โดย ฐานิดา บุญวรรโณ
Be the first to comment